วันจันทร์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2559

ประวัติการอพยพของกลุ่มชาติพันธุ์



ชาวเย้าในเขต ต.ปอ อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย
  • คนเมือง เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2280 ได้มีราษฎรจำนวนประมาณ 50 ครัวเรือน อพยพมาจากจังหวัดแพร่ น่าน เชียงใหม่ และลำปาง โดยการนำของพระยาเตรียม ได้มาตั้งถิ่นฐานครั้งแรกที่บ้านม่วง บ้านยาย และบ้านหลู้ เดิมเป็นชื่อที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 ในปี พ.ศ. 2431 ได้จัดให้มีการจัดตั้งหมู่บ้านตำบลให้เป็นระบบ และตั้งเป็นตำบลม่วงยาย โดยมีขุนม่วงยายยศเขต เป็นกำนันคนแรกและมีหมู่บ้านต่าง ๆ ได้แก่ บ้านหลู้ บ้านยาย บ้านม่วง หลังจากนั้นชุมชนขยายขึ้นจึงมีหมู่บ้านใหม่อีก ได้แก่ บ้านหล่ายงาว บ้านทุ่งทราย ตามลำดับ 
  • ไทลื้อ ชาวไทลื้อที่มาตั้งถิ่นฐานในอำเภอเวียงแก่น เคยอาศัยอยู่ที่เมืองลวง เมืองฮำ เมืองพงน้อย เมืองพงหลวง ในแคว้นสิบสองปันนา (ประเทศจีนในปัจจุบัน) ต่อมาได้เกิดการทำศึกสงครามกับพวกจีนฮ่อ จึงอพยพมาอยู่ที่บ้านนาไฮ เมืองน่านในปีไหนไม่ได้ระบุ และหลังจากนั้นก็ได้อพยพจากบ้านนาไฮเมืองน่านอีก มาอยู่ที่บ้านปอ บ้านน้ำโละ บ้านกลาง บ้านท่าข้าม ซึ่งมาอยู่แทนที่พลเมืองที่ติดตามเจ้ารำมะเสนจากเมืองน่าน จากนั้นเจ้ารำมะเสนอพยพไพร่พลของตนไปอยู่ที่เชียงของที่บ้านสถาน บ้านศรีดอนไชย และบ้านส้านในปัจจุบัน ส่วนลื้อที่มาจากบ้านนาไฮ เมืองน่าน (ไพร่พลที่ติดตามเจ้ารำมะเสน) แต่เดิมไม่ได้ขึ้นกับเมืองเชียงของ แต่ยังขึ้นกับทางเมืองน่านอยู่ จะมีการส่งส่วยให้กับทางเมืองน่านเป็นทองคำ คู่ละ 1 สลึง คนเปรียว (โสด) 1 บี้ (ครึ่งสลึง) ถ้าไม่มีทองคำก็ส่งเงิน 7 แถบ การส่งส่วยมาเลิกใช้เมื่อประมาณ ร.ศ.119 พ.ศ. 2443 ต่อจากนั้นไทลื้อที่มาจากบ้านนาไฮเมืองน่านก็ขึ้นกับเมืองเชียงของ
  • เย้า (เมี่ยน) เมื่อเกิดการเคลื่อนไหวของกลุ่มคอมมิวนิสต์ ชาวเย้าได้ไปตั้งหลักแหล่งที่บ้านโล๊ะ พอการเคลื่อนไหวได้สงบลง หมู่บ้านหนองเตาได้ก่อตั้งขึ้น ชาวเย้าที่อาศัยอยู่มีด้วยกันสามตะกูลคือ แซ่ฟุ้ง (โล่ห์ปุ๋ง) แซ่เติ๋น (โล่ห์ตั่ง) และมีบางส่วนที่ แซ่จ๋าว(โล่ห์เจ๋ว) คำว่าหนองเตา ความเป็นมาคือ เมื่อก่อนมีหนองน้ำท้ายหมู่บ้านมีเต่าเยอะเลยตั้งชื่อว่า หนองเต่า (ข้อมูลจากผู้เฒ่าผู้แก่หลายคนในหมู่บ้าน) เดิมทีชื่อหมู่บ้านหนองเต่าเรียกไปเรียกมา เพี้ยนกลายเป็นหมู่บ้านหนองเตา 
  • ม้ง (แม้ว) ชาวม้ง เป็นชนเผ่าที่มีการกระจายมากที่สุด คืออาศัยอยู่ตั้งแต่ประเทศจีน พม่า ลาว และไทย มีต้นกำเนิดดั้งเดิมอยู่ในมณฑลไกวเจา ฮุนหนำ กวงสี และยูนนาน จัดอยู่ในกลุ่ม ธิเบต-พม่า อพยพเข้ามาในประเทศไทยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ผ่านมาทางประเทศลาว เข้าสู่ประเทศไทยทางจังหวัดเลย และจังหวัดน่าน ในจังหวัดเชียงราย ชนเผ่าม้งอาศัยอยู่ในเขต 8 อำเภอ 12 ตำบล 50 หมู่บ้าน ในเขตอำเภอเวียงแก่น ถือว่ามีชนเผ่าม้งเป็นประชากรที่มากที่สุดในอำเภอ โดยเฉพาะในเขตตำบลปอ ได้แก่ บ้านเจดีย์ทอง บ้านทรายทอง บ้านห้วยคุ บ้านห้วยหาน ฯลฯ 
  • จีนฮ่อ การอพยพเข้ามาของชาวจีนฮ่อที่เข้ามาในประเทศไทยนั้น เริ่มจากการตั้งบ้านเรือนเป็นชุมชนใหญ่ ได้แก่ บ้านผาตั้ง ตำบลปอ อำเภอเวียงแก่น และชุมชนดอยแม่สลอง ตำบลแม่สลองนอก และตำบลแม่สลองใน อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย โดยอพยพเข้ามาเมื่อประมาณ พ.ศ. 2492 เนื่องจากจีนมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบคอมมิวนิสต์ ในปี พ.ศ. 2496 และ พ.ศ. 2504 รัฐบาลไทยโดยการอำนวยการขององค์การสหประชาชาติได้อพยพกลุ่มทหารกลับไปยังประเทศไต้หวัน แต่ก็ยังมีชาวจีนบางส่วนทั้งที่เป็นทหารและพลเรือนไม่ยอมอพยพกลับไป ยังคงอยู่ในจังหวัดเชียงราย รัฐบาลไทยได้ดำเนินการปลดอาวุธบุคคลเหล่านั้นและให้อยู่อาศัยในความควบคุมของฝ่ายปกครอง และกองบัญชาการทหารสูงสุด และได้ให้ชาวจีนจัดตั้งนิคมสร้างตนเอง 
  • ขมุ ชาวขมุได้อพยพเข้ามาจากประเทศลาวที่อำเภอเวียงแก่นเป็นครั้งแรกที่บ้านห้วยจ้อ ตำบลม่วงยาย แล้วแตกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก ไม่โยกย้ายไปไหน อีกกลุ่มโยกย้ายไปอยู่บ้านแป บ้านห้วยป่าซาง บ้านดู่ บ้านน้ำเหมือง สุดท้ายประมาณ ปี พ.ศ. 2513 ที่บ้านป่าตึง อำเภอเวียงแก่น โดยสาเหตุที่ของการโยกย้าย เนื่องจากกลัวภัยจากการเกิดสงครามซึ่งช่วงนั้นประเทศลาวยังอยู่ในอาณานิคมของฝรั่งเศส และเป็นความเชื่อของชาวขมุที่ต้องมีการโยกย้ายที่อยู่อยู่เสมอ ต่อมาความเชื่อนี้จึงหมดไป ชาวขมุจึงตั้งหลักแหล่งที่อยู่อาศัยอยู่ที่เดิม 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น